วัดศรีนวรัฐ ตั้งอยู่เลขที่ 266 บ้านทุ่งเสี้ยว ถนนสายเชียงใหม่-จอมทอง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระสุธน-นางมโนรา ศาลาการเปรียญ วิหารศิลปะแบบล้านนา กุฏิสงฆ์ ศาลาบำเพ็ญกุศล 2 หลัง ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน ธรรมาสน์มีลวดลาย สัตภัณฑ์ แท่นบูชา และหีบธรรมสมัยเก่า ปัจจุบันมีพระครูวินัยธรสุเทพ ฐานวโร เป็นเจ้าอาวาส วัดศรีนวรัฐ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2145 เดิมชื่อวัดหลวงทุ่งเสี้ยว ชาวบ้านเรียกว่าวัดทุ่งเสี้ยว โดยมีชาวไทยเขินเป็นผู้สร้างวัด ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ในชื่อวัดศรีเนาวรัฐ เขตวิสุงคามสีมากว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตรจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่พบหลักฐานวันเวลาในการก่อสร้างที่แน่นอน ทราบแต่เพียงว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต เดิมชื่อของวัดมิได้ชื่อ "วัดศรีนวรัฐ" แต่ต่อมาเจ้าแก้วนวรัฐ ทำการบรูณะ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้เจริญรุ่งเรือง ท่านจึงให้นามเสียใหม่ว่า "วัดศรีนวรัฐ" ตั้งแต่บัดนั้นมา ในพงศ-วดารล้านนา กล่าวว่าอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ถูกปกครองโดยมังซานรทามังคุย ระหว่าง พ.ศ.2122-2150 สมบัติของวัดเดิมสมัยอยุธยาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันคือ พระเจ้าสักคงตัน "พระเจ้าอกล้ง" สร้างด้วยไม้สักขนาดหน้าตักกว้าง 32 นิ้ว สูง 56 นิ้ว สร้างได้ดีสวยงามมาก ผ้าผาด "สายสะพาย" ทำเป็นลวดลายประดับมุข เป็นพระปางมารวิชัย ถูกทอดทิ้งอยู่บริเวณวัดเดิมตั้งแต่สมัยศึกพม่า ท่านเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายได้อาราธนาอัญเชิญจากที่เดิมมาบูรณะซ่อมแซมตกแต่งใหม่ให้งดงาม ปัจจุบันพระพุทธรูปเจ้าพระเจ้าอกล้งประดิษฐานอยู่ ภายในศาลาการเปรียญวัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว) เป็นที่เคารพสักการะของบรรดาศรัทธานักศิลนักบุญ ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของบ้านทุ่งเสี้ยว ทุกวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ของทุก ๆ ปี จัดให้มีงานสรงน้ำพระเจ้าอกล้ง วัดศรีนวรัฐ(ทุ่งเสี้ยว) สร้างใหม่หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ในสมัยเจ้ากาวิละตามหลักฐานคัมภรีธรรมโบราณ เรียกชื่อว่า "วัดหลวงทุ่งเสี้ยว" เจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์แรกครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2324 - 2358 ในปีพ.ศ. 2470 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้กำแพงด้านหลังพระวิหารทรุดพังลงพร้อมทั้งองค์พระประธาน ปรากฏว่ามีของมีค่าบรรจุอยู่ในนั้นมีลานหูทองคำ เขียนว่ามีสามเณรเป็นเจ้าศรัทธาเป็น ผู้สร้างพระประธานเมื่อปี พ.ศ. 2370 (ตรงกับสมัยเจ้าหลวงพุทธวงค์ พ.ศ. 2368-2389) จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทันเห็นพระวิหารหลังแรก เล่าว่า พระวิหารหลังแรกนั้นมีขนาดสูงใหญ่ และรูปแบบผิดกับพระวิหารหลังปัจจุบันนี้มาก ซึ่งพระวิหารหลังแรกเป็นทรงจตุรมุขมีทางขึ้นสามทาง ทางขึ้นด้านหน้าเป็นบันไดใหญ่มีรูปพญานาคสองข้างสวยงามมาก หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา พระวิหารหลังแรกอายุประมาณหนึ่งร้อยปีเศษ ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ในขณะนั้นท่านเจ้าอาวาสพระอธิการบุญมาและศรัทธาทั้งปวงเห็นว่าไม่สามารถจะบูรณะซ่อมแซมได้ จึงรื้อพระวิหารหลังเก่าลง ยังไม่ทันจะลงมือสร้างใหม่ พระอธิการบุญมา เจ้าอาวาส ก็มรณะภาพลง ต่อมาพระดวงติ๊บเป็นเจ้าอาวาสแทน ได้ดำเนินการสร้างพระวิหารหลังใหม่ แต่ศรัทธาในสมัยนั้นมีเพียง 50-60 หลังคาเรือน ไม่มีกำลังพอที่จะสร้างพระวิหารหลังใหม่ให้มีขนาดสูงใหญ่เท่าหลังเดิมได้ จึงลดให้มีขนาดเล็กลงตามแบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน วันเริ่มงานฉลองพระวิหารหลังใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นวันออกพรรษาของพระบรมธาตุด้วย ตามประเพณีของชาวล้านนาถือว่าพระบรมธาตุจะเข้าพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ผู้สรงน้ำพระบรมธาตุองค์แรกคือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี องค์ต่อมาคือ เจ้าแก้วนวรัฐ หลังจากพิธีสรงน้ำพระธาตุเสร็จแล้ว ในวันรุ่งขึ้นก็ได้อัญเชิญพระบรมธาตุกลับสู่ยังวัดพระธาตุศรีจอมทองดังเดิม |